GAT/PAT คืออะไร
1.1 GAT/ PAT คืออะไร ทดสอบอะไรบ้าง?
GAT(General Aptitude Test) หรือความถนัดทั่วไป เป็นการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือในอีกมุมนึงคือการทดสอบวัดดูว่านักเรียนมีความพร้อมในการจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมากน้อยแค่ไหน โดยข้อสอบจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้
- ส่วนที่ 1 GAT เชื่อมโยง คือ การวัดความสามารถในการอ่าน/การเขียนและการคิดเชิงวิเคราะห์การแก้โจทย์ปัญหา และวัดความสามารถในการสื่อสารพื้นฐาน โดยไม่เน้นที่การท่องจำ จากนั้นใน
- ส่วนที่ 2 GAT อังกฤษ คือ การทดสอบความรู้ ความสามารถในการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วย Speaking and Conversation, Vocabulary, Structure and Writing, Reading Comprehension โดยทั้ง 2 พาร์ท จะมีสัดส่วนคะแนนเต็ม 150 คะแนน/ต่อวิชา ซึ่งรวมกันแล้ว คะแนนเต็มทั้งหมดคือ 300 คะแนนด้วยกัน
PAT (Professional and Academic Aptitude Test) เป็นการทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ PAT เป็นการสอบที่จะดูว่านักเรียนมีความถนัดวิชาชีพที่จะเลือกเรียนมากน้อยแค่ไหน มีแววจะเข้าสู่เส้นทางอาชีพในคณะที่เลือกไหม คือ เป็นการวัดความรู้ที่เป็นพื้นฐาน กับศักยภาพที่จะเรียนในวิชาชีพนั้นๆ เช่น หากน้องๆจะเลือกเรียนศิลปกรรมศาสตร์ ก็จะต้องวัดว่าน้องมีความคิดสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน ซึ่ง PAT มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 7 สาขาวิชาด้วยกัน ดังนี้
- PAT 1 คือ ความถนัดทางคณิตศาสตร์ (กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น บริหาร-บัญชี, เศรษฐศาสตร์, มนุษยฯ-อักษรฯ,สังคมศาสตร์) ยื่นคะแนนรูปแบบที่1 พื้นฐานสายวิทย์ หรือศิลป์คำนวณ
- PAT 2 คือ ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ (กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพ-กายภาพ, คณะวิศวกรรมศาสตร์)
- PAT 3 คือ ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ (กลุ่มคณะที่ใช้ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์)
- PAT 4 คือ ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ (กลุ่มคณะที่ใช้ คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ )
- PAT 5 คือ ความถนัดทางวิชาชีพครู (กลุ่มคณะที่ใช้คือ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์)
- PAT 6 คือ ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ (กลุ่มคณะที่ใช้คือ คณะศิลปกรรมศาสตร์)
- PAT 7 คือ ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ (กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น การโรงแรมและท่องเที่ยว, มนุษยฯ-อักษรฯ-,สังคมศาสตร์) ยื่นคะแนนรูปแบบที่ 2 พื้นฐานสายศิลป์ ประกอบด้วย
– PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส
– PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน
– PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น
– PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน
– PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ
– PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี
* สำหรับ PAT นักเรียนไม่จำเป็นต้องสอบทุกสาขาวิชา ให้เลือกสอบเฉพาะ PAT ที่จะนำไปใช้ในการเลือกเข้าเรียนในคณะที่ตนเองต้องการเท่านั้นนะคะ
1.2 ผลสอบหรือคะแนน GAT/PAT เอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง?
- ยื่นคะแนนเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ในระบบรับตรง (ข้อกำหนดและเกณฑ์ของคะแนนขึ้นอยู่กับแต่ละคณะหรือมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด)
- ยื่นคะแนนเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ผ่านระบบแอดมิชชั่น (Admission) โดยคิดค่าน้ำหนักของคะแนนอยู่ในสัดส่วนระหว่าง 10%-50% ส่วนที่เหลือนั้นก็มาจากสัดส่วนรวมกันของเกรด(GPAX) และคะแนน O-NET นั่นเองค่ะ นั่นหมายความว่าถ้าน้องๆไม่มี GAT PAT ก็จะไม่สามารถแอดมิชชั่นได้นั่นเองค่ะ
1.3 ใครสามารถสอบ GAT PAT ได้บ้าง และเปิดสอบปีละกี่ครั้ง
ในการสอบนั้นทุกคนมีสิทธิสอบ ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ ม.6 เด็กซิ่ว หรือสายอาชีพ โดย 1 ปีการศึกษาจะมีการจัดสอบเพียงแค่ 2-3 ครั้ง และโดยเฉลี่ยแล้ว คะแนนจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 2 ปีด้วยกันค่ะ (ทั้งนี้เกณฑ์ของอายุคะแนนอาจขึ้นอยู่กับคณะ และมหาวิทยาลัย)
ในช่วงสุดท้ายขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยทริคและเคล็ดลับในการเตรียมความพร้อมหรือเตรียมตัวสอบ GAT PAT กันด้วยวิธีและคำแนะนำเบื้องต้น คือ “การฝึกฝนทำข้อสอบเยอะๆ ข้อสอบเก่า/ ย้อนหลังปีต่างๆ ให้ได้มากที่สุด การลงมือฝึกฝนทำข้อสอบจะได้ผลดีกว่าการอ่านหรือแค่ทำความเข้าใจเฉยๆนะคะ เตรียมตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่งค่ะ ยิ่งทำเยอะ ยิ่งได้เปรียบ ข้อสอบไม่ได้ยากเกินความสามารถ เก็บชั่วโมงการบินไว้ดีๆ แล้วไปลุยข้อสอบได้สบายๆเลยค่ะ (อย่าลืมลองจับเวลาตอนฝึกทำข้อสอบกันด้วยนะคะ)” ขอแอบกระซิบว่า ข้อสอบสามารถหาดู หรือดาวน์โหลดได้จากเว็ปไซด์ในอินเตอร์เน็ต หรือหาซื้อหนังสือตามร้านหนังสือมาฝึกทำก็ได้นะคะ หรือหากน้องๆ อยากทำความเข้าใจผ่านการเรียน ลองมองหาติวเตอร์วิชา GAT PAT ได้เลยค่ะ มีหลากหลายสถาบันให้เลือกดูเลยค่ะ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีเช่นกันค่ะ รวมถึงท่านผู้ปกครองและน้องๆ ก็ยังสามารถมองหา หรือลองติดตามช่องทางโครงการจัดติวฟรีต่างๆได้ด้วยเช่นกันนะคะ ท้ายที่สุด ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆและผู้ปกครองทุกคนที่กำลังเตรียมตัวสอบ GAT PAT เข้ามหาวิทยาลัยกันทุกคนเลยนะคะ